ความรู้เกี่ยวกับคอมฯ: SERVER คืออะไร(แบบภาษาชาวบ้าน)
10 มิ.ย.
2018-06-10 23:07:37
5522
admin@admin
ความรู้เกี่ยวกับคอมฯ: SERVER คืออะไร(แบบภาษาชาวบ้าน)
คำว่า server แปลว่า ผู้ให้บริการ...เราใช้เรียกเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ทำหน้าที่ให้บริการบางอย่างในระบบเครือข่าย ซึ่งอันที่จริงแล้ว server มีหลายประเภทหลายชนิด แต่เรามักเรียกรวมๆว่า server
server ที่เราคุ้นเคยกันมาตั้งแต่อดีตคือ File server คือ server ที่ให้บริการแฟ้มข้อมูลซึ่งมักเก็บแฟ้มข้อมูลในการทำงานไว้ที่ server เพื่อให้ผู้ใช้ในองค์กร(ซึ่งมีมากกว่า 1 คน) สามารถเข้าถึงแฟ้มข้อมูลที่ต้องการได้อย่างทันทีและเป็นปัจจุบัน ในยุคปัจจุบัน server ที่มีจำนวนมากในโลกคือ web server ซึ่งก็คือ server ที่คอยให้บริการข้อมูลผ่านทางเครือข่ายอินเตอร์เน็ตซึ่งเราจะเห็นในรูปแบบต่าง เช่น หน้า web page ของหน่วยงานต่างๆเป็นต้น ในทางความเป็นจริงในเรื่องของการวางระบบเครือข่ายไม่ว่าขนาดใด จำเป็นต้องมี server มากกว่า 1 ชนิดในการให้บริการข้อมูล แต่โดยหลักการสำคัญก็คือ server จะเป็นศูนย์กลางในการให้บริการทรัพยากรต่างๆในเครือข่ายให้แก่ผู้ใช้ในระบบเมื่อร้องขอ
คำว่า server เป็นคำที่ใช้เรียกส่วนประกอบคอมพิวเตอร์ที่มาทำงานร่วมกัน 2 สิ่ง คือ ตัวเครื่องคอมพิวเตอร์ และโปรแกรมระบบปฏิบัติการ ซึ่งทั้งสองอย่างมักถูกสร้างมาเพื่อใช้ในการเป็น server โดยเฉพาะ
เครื่องคอมพิวเตอร์ที่ใช้เป็น server อาจต้องมีประสิทธิภาพสูงหรือประสิทธิภาพธรรมดาเหมือนเครื่องตามบ้านก็ได้ ขึ้นอยู่กับการใช้งานด้านใด และมากน้อยเพียงใด หลายคนอาจเข้าใจว่า server คือเครื่องคอมพิวเตอร์วิเศษสุดและมีประสิทธิสูงจนบางคนฝันอยากจะซื้อไปเล่นเกมส์แรงๆ ซึ่งในทางความเป็นจริง server เป็นแค่คอมพิวเตอร์ที่มีแค่ความอดทนสูง และมีความเร็วเฉพาะบางเรื่องเท่านั้น ซึ่งโดยทั่วไปผู้ดูแลระบบมักเลือก spec. ด้านใดด้านหนึ่งเท่าที่จำเป็นเพื่อลดค่าใช้จ่าย
จุดมุ่งหมายของ server มีความชัดเจนเฉพาะด้านคือจะต้องสามารถทำงานได้ตลอด 24 ชม. 7 วันต่อสัปดาห์ได้โดยไม่หยุด และต้องสามารถปกป้องข้อมูลของผู้ใช้ให้ปลอดภัยที่สุด นั่นคือต้นเหตุทำให้ server มีราคาค่าตัวสูงกว่าคอมพิวเตอร์ตามบ้านทั่วไป เนื่องจากอุปกรณ์ต่างๆภายใน server ถูกสร้างขึ้นเพื่อใช้งานในลักษณะดังกล่าวโดยเฉพาะ คือ ทนทาน!! ชิ้นส่วนจึงต้องใช้วัสดุคุณภาพสูงกว่าปกติจึงทำให้ราคาสูงขึ้นตาม
เหตุที่อุปกรณ์ server มีราคแพงเพราะเน้นความรวดเร็ว แม่นยำ และทนทาน เช่น Harddisk ของ server โดยเฉพาะจะเป็นชนิด SCSi หรือเรียกกันติดปากว่า สกัสซี่ มีราคาแพงกว่า Harddisk ทั่วไปประมาณ 4 เท่า เนื่องจาก Harddisk ชนิดนี้จะมีความเร็วเบื้องต้น(ในทางทฤษฎี)มากกว่า Harddisk ตามบ้านมากกว่า 2 เท่า เพราะ Harddisk ชนิดนี้สามารถอ่านและเขียนได้ในเวลาเดียวกัน ซึ่งต่างจาก Harddisk ATA ทั่วไปที่ต้องทำทีละอย่างสลับกันไป
การใช้งาน server ก็แตกต่างจากการใช้งานคอมพิวเตอร์ทั่วไป คือ server มักจะไม่ถูกใช้งานผ่านหน้าเครื่องยกเว้นกรณีซ่อมบำรุง หรือ ติดตั้งโปรแกรมบางอย่างที่ใช้งานบน server เพราะการใช้งานหน้าเครื่องมีความเสี่ยงด้านความปลอดภัย เช่น อาจติดไวรัสจากแฟลชไดรว์ หรือ อาจทำให้โปรแกรมหลักของ server เสียหายโดยไม่ตั้งใจ เป็นต้น
โปรแกรมที่ติดตั้งบน server ก็ไม่ใช่อันเดียวกันกับคอมพิวเตอร์ตามบ้าน หากเป็นตระกูล Windows เราก็จะเห็น Windows XP หรือ Windows 7 ในเครื่องตามบ้าน หากเป็น server ก็จะใช้ Windows 200X server เป็นต้น หรือ บางกรณีอาจใช้ Linux แทน หรือ อาจเป็น Unix ในระบบใหญ่ๆ เช่น ธนาคาร เป็นต้น ซึ่ง"โปรแกรม"ที่อยู่บน server นอกจากจะเป็นโปรแกรมจัดการระบบ OS แล้ว ยังมีความสามารถในการให้บริการ และควบคุมเครื่องในเครือข่ายได้อีกด้วย
Windows Server 2008 R2 เป็น server OS ที่ได้รับการกล่าวถึงมากในตอนนี้ เนื่องจากมีความสามารถมากมาย สามารถให้บริการได้หลายประเภทในเวลาเดียวกันโดยไม่ซื้อโปรแกรมเพิ่ม ที่สำคัญ windows server 2008 R2 ตัวนี้ สามารถควบคุมผู้ใช้ได้ครอบคลุมทุกกรณีไม่ว่าจะย้ายไปทำงานที่เครื่องใด ที่"เจ็บ"ก็คือ สามารถควบคุมเครื่องในเครือข่ายได้โดยไม่ต้องไปจัดการที่เครื่องลูกข่ายเลย กำหนดสิทธิ์การเข้าถึงอุปกรณ์ของเครื่องลูกข่ายได้ ไม่ว่าจะเป็น มองไม่เห็นไดร์วC ไม่สามารถใช้แฟลชไดร์วได้ มองไเห็นหรือม่เห็นคอนโทรลใดๆ กำหนดเวลาในการเข้าถึงเครือข่าย(LAN) หรือ อินเทอร์เน็ตได้เป็นเวลา จนถึงกำหนดหน้าจอเครื่องว่าจะให้ใช้แบคกราวด์แบบใดยังได้เลย
ความสามารถที่กล่าวมาข้างต้น ผู้คิดค้นทำขึ้นมาก็เพื่อความปลอดภัยของข้อมูลในเครือข่าย เพราะการเข้าถึงเครื่องคอมพิวเตอร์เครื่องใดเครื่องหนึ่งในเครือข่ายก็คือมองเห็นประตูทางเข้าสำนักงานอยู่ตรงหน้าแล้วแต่ไม่มีบัตรผ่านเท่านั้นเอง ถ้าเป็นโจรก็คือรอยามเผลอเท่านั้นเอง ความปลอดภัยที่เหนือกว่านั้นคือ"ซ่อน" ทางเข้าไม่ให้ใครรู้ หรือ "ล๊อค"ทางเข้าไว้เสมอ ซึ่งความปลอดภัยของข้อมูลในเครือข่ายขึ้นอยู่กับผู้ใช้งานทุกระดับที่ต้องช่วยกันระวัง อันได้แก่
1. ตั้ง Password ทุกเครื่อง และต้อง Log Out ออกเสมอเมื่อเลิกใช้งาน
2. เปลี่ยน Password บ่อยๆ และไม่ควรจด password ไว้ในกระดาษ รวมถึงไม่ควรบอก password ผู้อื่นไม่ว่ากรณีใด
3. ตั้ง User บนเครื่องให้ใช้ของใครของคนนั้น ต่อให้เป็นเครื่องที่ไม่ได้ต่อ network ก็เถอะ และไม่ควรทำ Auto Log on
4. ทำตัวให้เลิกกลัวระบบ network - อินเทอร์เน็ต และเรียนรู้มัน "หัด" share ข้อมูลในเครือข่าย และควบคุมข้อมูลของคุณ
5. ควรกำหนดให้เครื่องของคุณเป็นสมาชิกของโดเมนหากทำได้ โดยการติดต่อผู้ดูแลระบบของคุณ เพราะการเป็นสมาชิกโดเมนจะได้รับการคุ้มครองโดย server โดยตรง
6. หลีกเลี่ยงการ Log on โดยใช้ use name ว่า administrator และควร Log on โดยใช้ user name ที่มีสิทธิ์น้อยที่สุดที่คุณมี
7. ปิด user name ที่ชื่อว่า Guest เพื่อป้องกันคนแปลกหน้ามาใช้เครื่อง
8. ถ้าเครื่องนั้นมีคนใช้ร่วมกับคุณ พยายามอย่าเก็บข้อมูลของคุณไว้ที่อื่นนอกจาก My Document ของคุณ เพราะ My Document จะไม่สามารถมองเห็นได้โดยผู้ใช้อื่น แต่ถ้าคุณเก็บข้อมูลไว้ที่ไดรว์ D ทุกคนจะสามารถเข้าถึงมันได้โดยอิสระจากหน้าเครื่อง
9. สำหรับผู้ติดตั้ง windows เอง ควรกำหนด password ตอนติดตั้งให้แข็งแรง อย่าใช้เบอร์โทร หรือแม้แต่เลขประจำตัวประชาชนของคุณ
10. หลีกเลี่ยงการใช้แฟลช์ไดรว์โดยไม่จำเป็น เพราะไวรัสเก่งกว่าที่คิด ส่วนที่แม้แต่ admin ยังแก้ไขไม่ได้ง่ายๆ แต่ไวรัสสามารถแก้ไขได้เฉยเลย แม้คุณจะใช้ username ที่มีสิทธิ์น้อยที่สุดก็ตาม ควรหันไปแชร์ข้อมูลผ่านทางเครือข่ายแทน
11. ล๊อคห้องทำงานของคุณเสมอถ้าทำได้ และยิ่งมีความจำเป็นมากหากห้องของคุณมี server ตั้งอยู่ เครื่องคอมพิวเตอร์หากสามารถล๊อคกุญแจเคสได้ก็จะดีมาก
12. ข้อสำคัญ อย่าทำงานสำนักงานที่หน้าเครื่อง server โดยเด็ดขาด เพราะคุณอาจเป็นผู้ทำ server"ล่ม"
เมื่อทำได้ทั้ง 12 ข้อแล้ว ที่เหลือก็ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของผู้ดูแลระบบ ข้อมูลของคุณก็จะปลอกภัย 100% ที่สำคัญคือ ผู้ที่มี server อยู่ในครอบครอง ควรใช้ server ให้เกิดประโยชน์ และถูกหน้าที่ของมัน อย่าไปเสียเงินมากมายเพื่อเอา server มา"ยำ"เละ ลดระดับลงมาเป็นเครื่องธรรมดาบ้านๆ เสียดายเงินครับ...